Socialist Realism (-)

สัจนิยมแนวสังคมนิยม (-)

สัจนิยมแนวสังคมนิยมเป็นทฤษฎีและนโยบายพื้นฐานในการสร้างสรรค์งานศิลปะและวรรณกรรมของสหภาพโซเวียตระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๒ ถึงทศวรรษ ๑๙๘๐ อันเดรย์ จดานอฟ (Andrei Zhadanov)* นักทฤษฎีการเมืองซึ่งกำกับดูแลนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตได้เสนอแนวความคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยมต่อที่ประชุมใหญ่ครั้งแรกของสหภาพนักเขียนแห่งสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union Writers of the USSR) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สหภาพนักเขียนโซเวียต (Union of Soviet Writers) ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เขาต้องการให้แนวความคิดดังกล่าวเป็นกรอบนโยบายในการสร้างงานศิลปะและวรรณกรรมของชนชั้นกรรมาชีพ และเพื่อสร้างเอกภาพทางความคิดของคิลปิน กวี และนักเขียน ทั้ง ๑๕ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตในการสร้างงานศิลปะและวรรณกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ตลอดจนเพื่อสะท้อนแนวความคิดสังคมนิยมที่เป็นเอกลักษณ์ด้านขนบประเพณีและวัฒนธรรมของประชาชาติต่าง ๆ ในสหภาพโซเวียต ที่ประชุมใหญ่สหภาพนักเขียนโซเวียตมีมติเห็นชอบกับความคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยมและกำหนดให้เป็นหลักนโยบายต้านศิลปวรรณกรรมแห่งพรรค ต่อมา ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สัจนิยมแนวสังคมนิยมได้เป็นนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นรัฐบริวารโซเวียต (Soviet Bloc) รวมทั้งในดินแดนส่วนอื่น ๆ ของโลกที่มีการปกครองในระบอบสังคมนิยม

 สัจนิยมแนวสังคมนิยมเป็นผลสืบเนื่องจากการยึดอำนาจทางการเมืองของพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งทำให้รัสเซียเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมและเรียกชื่อประเทศใหม่ว่าสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (Russian Soviet Federative Socialist Republics-RSFSR)* ในช่วง ๓-๔ ปี แรกหลังการยึดอำนาจ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิคยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนด้านศิลปะและวัฒนธรรมเพราะมุ่งแก้ไขปัญหาการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศและพยายามต่อสู้เพื่อชัยชนะในสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* แม้รัฐบาลโซเวียตจะไม่ได้กำหนดนโยบายด้านวัฒนธรรมไว้แต่เลนินก็สนับสนุนให้ใช้วรรณกรรมโปสเตอร์การเมือง และโดยเฉพาะภาพยนตร์เป็นเครื่องมือและอาวุธแห่งการปฏิวัติเพื่อสร้างจิตสำนึกทางการเมืองและให้การศึกษาเรื่องสังคมนิยมและอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ เขาชี้แนะให้นักเขียนและศิลปินใช้งานด้านศิลปะและวรรณกรรมในระบอบซาร์เป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมใหม่ชองชนชั้นกรรมาชีพ เลนินจึงให้อะนาโตลี วาซีเลียวิช ลูนาชาร์สกี (Anatoly Vasilyevich Lunacharsky)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการผลักดันงานด้านการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับนโยบายทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต

 แม้ลูนาชาร์สกีจะไม่ใช่นักบริหารที่สามารถแต่เขา ก็เป็นคนใจกว้าง ประนีประนอม และมีวิสัยทัศน์ แนวนโยบายการบริหารของเขาคือการลดช่องว่างทางความคิดและวัฒนธรรมระหว่างปัญญาชนปฏิวัติกับประชาชนและใช้งานด้านศิลปะและวรรณกรรมเป็นเครื่องมือของการปฏิวัติในการให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องสังคมนิยมและเพื่อเข้าใจและยอมรับอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลโซเวียตลูนาชาร์สกีใช้ทรัพยากรของรัฐที่มีอยู่เพื่อสงวนรักษาศิลปวัตถุสำคัญในสมัยซาร์ไม่ให้ลูกทำลายและสนับสนุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพโดยเฉพาะกลุ่มโปรเลตคุลต์ (Proletkult) ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงซึ่งต้องการให้งานศิลปะและวรรณกรรมเป็นเครื่องมือรับใช้อำนาจเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพกลุ่มโปรเลตคุลต์ต้องการสร้างงานวัฒนธรรมของชนชั้นกรรมาชีพที่เป็นอิสระจากการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์ และการสร้างนักเขียนและศิลปินรุ่นใหม่ที่มาจากชนชั้นกรรมาชีพ นาเดจดา ครุปสกายา (Nadezhda Krupskaya)* คู่ชีวิตของเลนินซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนกลุ่มโปรเลตคุลต์อย่างมากเธอผลักดันให้กลุ่มโปรเลตคุลต์จัดทำคู่มือหนังสือต้องห้ามสำหรับห้องสมุดชื่อ A Guide to the Removal of Anti-Artistic and Counter-Revolutionary Literature from Libraries Servins the Mass Readers เพื่อจำหน่ายหนังสือที่มีเนื้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์สังคมนิยมออกจากห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในเวลาต่อมาครุปสกายายังให้กระทรวงศึกษาธิการกำกับดูแลกลุ่มโปรเลตคุลต์ด้วยซึ่งสะท้อนว่ารัฐโซเวียตเริ่มใช้มาตรการควบคุมด้านการแสดงออกทางความคิดเห็นให้สอดคล้องกับนโยบายการเมืองของพรรค

 หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง รัฐบาลโซเวียตยกเลิกนโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (War Communism)* และใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy-NEP)* ด้วยการยกเลิกการบังคับเกณฑ์แรงงานและการยึดผลผลิตส่วนเกินของชาวนามาเป็นการเก็บภาษีผลผลิตแทนโดยคิดอัตราส่วนจากปริมาณการผลิตและการให้มีการค้าเสรี นโยบายเศรษฐกิจใหม่ทำให้ระบบเศรษฐกิจพื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีส่วนทำให้ธุรกิจการพิมพ์ของเอกชนที่เกือบล้มเลิกกิจการลงในช่วงสงครามกลางเมืองพื้นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง วงการหนังสือและการประพันธ์เริ่มคึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นด้วย กลุ่มปัญญาชนและนักเขียนที่เรียกว่า “โปปุตชีกี” (Poputchiki) หรือ “เพื่อนเดินทาง” (Fellow Travelers) ซึ่งยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบอบสังคมนิยม แต่ไม่ต้องการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ก็กลับมามีบทบาทสำคัญในวงการหนังสือ กลุ่มโปปุตชีกีไม่สนใจการสร้างศิลปวรรณกรรมเพื่อชนชั้นแบบพวกโปรเลตคุลต์และต้องการแสดงออกอย่างอิสระซึ่งอารมณ์และความคิดในเรื่องต่าง ๆ พวกเขาใช้วารสารรายเดือนชื่อ Red Virgin Soil ซึ่งมีอะเล็กซานเดอร์ โวรอนสกี (Alexander Voronsky)* นักวิจารณ์มาร์กซิสต์แนวหน้าเป็นบรรณาธิการเป็นเวทีแสดงออก วารสารนี้เป็นที่รวมศูนย์ของนักเขียนที่มีฝีมือทั้งเก่าและใหม่และมีการเสนอทฤษฎีการวิจารณ์ที่มีลักษณะเป็น “สำนัก” (school) ขึ้นด้วย ความสำเร็จของกลุ่มโปปุตชีกีทำให้นักเขียนหัวรุนแรงโดยเฉพาะนักเขียนส่วนใหญ่ของกลุ่มโปรเลตคุลต์ที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เรียกร้องให้มีการกำหนดหลักการของพรรคทางวรรณกรรมและวางนโยบายการสร้างงานศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชนชั้นกรรมาชีพขึ้น หนังสือพิมพ์ Pravda ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ก็รณรงค์อย่างต่อเนื่องให้พรรคคอมมิวนิสต์เร่งสร้างบรรทัดฐานทางความคิดที่เป็นนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อกำจัด “ทรรศนะความเป็นกลาง” และ “ทรรศนะที่ไม่สังกัดพรรค” ให้หมดไป

 อสัญกรรมของเลนินผู้นำพรรคบอลเชวิคเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๔ ซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อนได้นำไปสู่ปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจและความขัดแย้งทางการเมืองภายในพรรค โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* เลขาธิการพรรคจึงเห็นเป็นโอกาสให้เชกา (CHEKA)* หรือตำรวจลับซึ่งมีเฟลิกซ์ เอดมุนโดวิช ดเซียร์จินสกี (Felix Edmundovich Dzerzhinsky)* สหายสนิทของเขาเป็นหัวหน้าเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๕ คณะกรรมาธิการกลางพรรคได้ประกาศมติ “นโยบายแห่งพรรคด้านวรรณกรรม” (On the Party’s Policy in the Field of Literature) ซึ่งในเวลาต่อมาเรียกกันว่าเป็น “ธรรมนูญทางวรรณกรรมของนักเขียนโซเวียต” (Magna Carta Libertatum of Soviet Writers) สาระสำคัญคือการเน้นบทบาทและหน้าที่ของงานวรรณกรรมเพื่อเป็นอาวุธอันทรงพลังทางความคิดของการต่อสู้ทางชนชั้นและเพื่อสร้างระบอบสังคมนิยมการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงานวรรณกรรมแห่งชนชั้นกรรมาชีพ การให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างอิสระภายใต้การชี้นำและกำกับดูแลของพรรคคอมมิวนิสต์ เลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* คู่ปรับของสตาลินมีบทบาทไม่น้อยในการผลักดันนโยบายดังกล่าว สตาลินซึ่งต้องการทอนอำนาจตรอตสกีจึงสนับสนุนนักเขียนที่เป็นสมาชิกโปรเลตคุลต์ซึ่งต่อต้านมติวรรณกรรม ค.ศ. ๑๙๒๕ ให้จัดตั้งสมาคมนักเขียนแห่งชนชั้นกรรมาชีพรัสเซีย (Russian Association of Proletarian Writers-RAPP) ขึ้นในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๕ เพื่อให้นักเขียนชนชั้นกรรมาชีพเป็นแกนนำในการสร้างงานวรรณกรรมที่สนับสนุนอุดมการณ์สังคมนิยมและเพื่อตอบสนองเป้าหมายการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก ตลอดจนพัฒนาวรรณกรรมชนชั้นกรรมาชีพให้เป็น “ใหญ่” (hegemony) เหนือวรรณกรรมแนวอื่น ๆ

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๕-๑๙๒๗ ความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจภายในพรรคมีความแหลมคมและรุนแรงมากขึ้นสตาลินได้ใช้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบอลเชวิคปีกขวากับปีกซ้ายเกี่ยวกับการจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจใหม่ต่อไปหรือไม่สร้างเสริมอำนาจทางการเมืองของตนให้มั่นคงขึ้น เขาสนับสนุนกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* และเลฟ คาเมเนฟ (Lev Kamenev)* ผู้นำบอลเชวิคปีกขวาเพื่อให้ร่วมมือกำจัดตรอตสกีคู่แข่งคนสำคัญในพรรคได้สำเร็จจากนั้นเขาก็หันมากำจัดนีโคไล อีวาโนวิช บูฮาริน (Nikolai Ivanovich Bukharin)* ซึ่งต่อต้านนโยบายการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (collectivization) และการใช้กำลังและความรุนแรงบีบบังคับชาวนาของสตาลิน ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ สตาลินรวบอำนาจภายในพรรคได้อย่างเด็ดขาด เขาจึงยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจใหม่และประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ฉบับแรก (ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๓๒) ซึ่งเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมหนักเพื่อเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นระบบสังคมนิยมโดยใช้งบประมาณ ๖๔,๐๐๐ ล้านรูเบิล ในช่วงเวลาเดียวกันสตาลินเริ่มนโยบายปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๓๑ ที่มีวัตถุประสงค์จะสร้าง “ปัญญาชนโซเวียตใหม่” (New Soviet Intelligentsia) เพื่อให้เข้าร่วมสร้างประเทศและปฏิบัติภารกิจตามโครงการต่าง ๆ ของพรรคและเพื่อให้รัฐโซเวียตซึ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจมีความมั่นคงทางสังคมและมีสีสันทางวัฒนธรรม เขาจึงสนับสนุนสมาคมนักเขียนแห่งชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียให้เป็นแกนนำทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างงานศิลปะและวรรณกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายทางการเมืองของพรรค

 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ สมาคมนักเขียนแห่งชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ด้วยการเรียกร้องให้นักเขียนและกลุ่มวรรณกรรมต่าง ๆ ปรับความคิด และแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายการเมืองของพรรค และให้ปลดโบริส ปิลเนียค (Boris Pilnyak) กับเยฟเกนี ซาเมียติน (Yevgeny Zamyatin) ออกจากตำแหน่งนายกสหภาพนักเขียนรัสเซีย (All-Union of Russian Writers) สาขามอสโกและเลนินกราดด้วยข้อหาส่งงานประพันธ์ที่ให้ร้ายป้ายสีสังคมโซเวียตและต่อต้านการปฏิวัติไปพิมพ์เผยแพร่นอกประเทศ แม้ปิลเนียคและชาเมียตินจะสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ว่าทั้งสองไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องผลงานที่จัดพิมพ์นอกประเทศ แต่ทั้งคู่ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพนักเขียนรัสเซีย หลังการปลดปิลเนียคและซาเมียติน สมาคมนักเขียนแห่งชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นทั้งได้รับการสนับสนุนจากสตาลินให้ทำหน้าที่เป็นเสมือนกระบอกเสียงของพรรคด้านวรรณกรรม

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๒ สมาคมนักเขียนแห่งชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียร่วมกับหน่วยงานด้านวัฒนธรรมของพรรคจัดโครงการอบรมและการประชุมสัมมนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์แก่นักเขียนด้วยการนำไปทัศนศึกษาตามโรงงานอุตสาหกรรมและนารวมตลอดจนการใช้ชีวิตสั้น ๆ ที่โรงงานและชนบท นักเขียนที่ผ่านการอบรมต้องสร้างงานประพันธ์เพื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี โดยสะท้อนเรื่องราวของการพัฒนาอุตสาหกรรมและนารวม และนำเสนอเรื่องราวของ “คนที่ตํ่าต้อย” (little men) กับ “ปฏิบัติการอันยิ่งใหญ่” (great deed) ของพวกเขาในการพลิกฟ้าควํ่าแผ่นดินเพื่อสร้างสังคมใหม่และการทำงานหนักแข่งกับเวลาเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ บนเส้นทางสังคมนิยม ตลอดจนชี้ให้เห็นบทบาทการนำของพรรคในการสร้างสังคมใหม่แห่งความเสมอภาคนวนิยาย ๔ เรื่องแรกที่พรรคคอมมิวนิสต์ยกย่องว่าเป็นต้นแบบของวรรณกรรมแนวทางพรรคและวรรณกรรมเพื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปีฉบับแรกคือ Energy (ค.ศ. ๑๙๓๒) ของ ฟิโอดอร์ กลัดคอฟ (Fyodor Gladkov) Hydrocentral (ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๒) ของมารีเอตตา ชากีเนียน (Marietta Shaginyan) Virgin Soil Upturned (ค.ศ. ๑๙๓๒) ของมีฮาอิล โชโลคอฟ (Mikhail Sholokov) และ Bruski (ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๓) นวนิยายชุด ๒ เล่มจบของฟิโอดอร์ ปันเฟรอฟ (Fyodor Panferov)

 อย่างไรก็ตาม ในช่วง ๒ ปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี งานประพันธ์กว่าร้อยละ ๗๕ ก็ด้อยคุณภาพและขาดความงามทางวรรณศิลป์ทั้งเป็นการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองอย่างสุดขั้ว ยิ่งนักเขียนปีกซ้ายของสมาคมนักเขียนแห่งชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียรณรงค์ให้สร้างวรรณกรรมตามแนวทางพรรค รูปแบบและเนื้อหาของงานประพันธ์ก็ซํ้าซากและเต็มไปด้วยแนวความคิดทางการเมืองนักเขียนสายกลางจึงผนึกกำลังเคลื่อนไหวต่อด้านแนวทางของ “วรรณกรรมที่ถูกกำหนด” (planned literature) ความขัดแย้งทางความคิดที่กำลังก่อตัวขึ้นทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เข้าแทรกแซงด้วยการประกาศมติพรรคว่าด้วยการปรับองค์การทางศิลปะและวรรณกรรม (Party Resolutions on Restructuring of Literary and Artistic Organizations) เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๒ สาระสำคัญคือให้ยุบเลิกสมาคมนักเขียนแห่งชนชั้นกรรมาชีพรัสเซีย ให้องค์การศิลปะ กลุ่มนักเขียนและศิลปินต่าง ๆ ตลอดจนหน่วยงานด้านวรรณกรรมของพรรครวมเข้าเป็นองค์การเดียวคือ สหภาพนักเขียนแห่งสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมหรือเรียกกันทั่วไปว่าสหภาพนักเขียนโซเวียต สหภาพนักเขียนโซเวียตจะเป็นองค์การแห่งรัฐในการกำหนดแนวนโยบายด้านศิลปะและวรรณกรรมที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของพรรคและสร้างสรรค์ความสมานฉันท์ในหมู่นักเขียนและศิลปิน ตลอดจนสนับสนุนนักเขียนรุ่นใหม่จากชนชั้นกรรมาชีพให้เข้าร่วมสร้างงานเพื่อความมั่นคงของรัฐโซเวียตและระบอบสังคมนิยม

 ในกลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ คณะกรรมการดำเนินงานจัดตั้งสหภาพนักเขียนโซเวียตได้เสนอแนวความคิดเรื่อง “สัจนิยมแนวสังคมนิยม” ให้คณะกรรมการกลางพรรคและผู้นำกลุ่มองค์การศิลปวัฒนธรรมตลอดจนสาธารณชนพิจารณาซึ่งนำไปสู่การอภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางระหว่างเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ จนถึงครึ่งปีแรกของ ค.ศ. ๑๙๓๓ สัจนิยมแนวสังคมนิยมยึดความคิดเห็นของเลนินว่าด้วยสิ่งพิมพ์ของพรรคและพันธะหน้าที่ของนักเขียนในงานนิพนธ์เรื่อง Party Organization and Party Literature (ค.ศ. ๑๙๐๕) เป็นหลัก ในงานนิพนธ์นี้เลนินเสนอให้วรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจร่วมกันของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นฟันเฟืองและตะปูควงในเครื่องจักรกลของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party-RSDLP)* ซึ่งเดินเครื่องโดยกองหน้าที่ทั้งหมดมีจิตสำนึกทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ วรรณกรรมต้องเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของพรรคโดยมีการจัดตั้ง การวางแผนและการบูรณาการกับงานการปฏิวัติ ในปีต่อมาสหภาพนักเขียนโซเวียตได้จัดประชุมใหญ่ครั้งแรกที่กรุงมอสโก ระหว่างวันที่ ๑๗ สิงหาคม - ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๔ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า ๑,๕๐๐ คน วาระสำคัญของการประชุมคือการพิจารณาร่างข้อบังคับและแผนการดำเนินงานของสหภาพนักเขียนโซเวียตและการพิจารณาข้อสรุปเนื้อหาสัจนิยมแนวสังคมนิยมเพื่อกำหนดเป็นหลักนโยบายทางศิลปะและวรรณกรรม ในการประชุมครั้งนี้ อันเดรย์ จดานอฟ องค์ปาฐกซึ่งเป็นผู้แทนพรรคได้กล่าวเปิดประเด็นเรื่องสภาพปัญหาทั่วไปในวงการหนังสือและการประพันธ์และเน้นสัจนิยมแนวสังคมนิยมเป็นเข็มทิศของการเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมโดยอ้างงานนิพนธ์ของเลนินเป็นหลักเขากล่าวถึงขอบเขตและลักษณะเฉพาะของวรรณกรรมโซเวียตในการต่อสู้ทางชนชั้นที่ต้องมีความโน้มเอียงทางการเมือง มีลักษณะปฏิวัติและการรวมศูนย์มากยิ่งกว่าวรรณกรรมทั่วไป วรรณกรรมต้องขึ้นต่อการเมืองและเป็นส่วนหนึ่งชองภารกิจปฏิวัติทั้งเป็นอาวุธในสงครามชนชั้นจดานอฟกล่าวสรุปว่าสถานภาพของงานศิลปะและวรรณกรรมโซเวียตได้ถูกกำหนดไว้ชัดเจนทางประวัติศาสตร์และมีบทบาทที่กำหนดไว้แล้วในงานปฏิวัติทั้งมวลของพรรคคอมมิวนิสต์ งานศิลปวรรณกรรมต้องรับใช้และตอบสนองแนวนโยบายทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและต้องขึ้นต่อพันธกิจปฏิวัติตามที่พรรคได้กำหนดไว้

 ปาฐกถาของจดานอฟได้รับการสนับสนุนจากนักเขียนเรืองนามคนสำคัญ ๆ หลายคน เช่น มักซิม กอร์กี (Maxim Gorky) อะเล็กซานเดอร์ เซราฟีโมวิช (Alexander Serafi movich) นีโคไล บูฮาริน คาร์ล ราเดค (Karl Radek)* ที่ประชุมใหญ่จึงมีมติเห็นชอบในการกำหนดความหมายและขอบเขตเนื้อหาสัจนิยมแนวสังคมนิยมที่ว่าต้องประกอบด้วยบรรทัดฐานทางการเมืองและมีความเป็นเอกภาพระหว่างเนื้อหาการเมืองที่ปฏิวัติกับรูปแบบทางศิลปะที่สมบูรณ์เท่าที่จะทำได้ ต้องสะท้อนหลักนโยบายพรรคและปลุกระดมทางความคิดทั้งให้การศึกษาเรื่องสังคมนิยมต้องสะท้อนสัจนิยมทางประวัติศาสตร์และชี้ให้เห็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าของชีวิตและสังคมตามทิศทางของการปฏิวัติ ต้องสะท้อนภาพที่ควรจะเป็นจริงของสังคมคอมมิวนิสต์และบทบาทการนำของพรรคคอมมิวนิสต์รวมทั้งตัวละครเอกเป็นผู้ใช้แรงงาน ในการประชุมใหญ่ครั้งนี้ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ยกย่องมักซิม กอร์กีเป็นบิดาแห่งวรรณกรรมสัจนิยมแนวสังคมนิยมเพราะนวนิยายเรื่อง Mother (ค.ศ. ๑๙๐๗) ถือเป็นงานบุกเบิกเรื่องแรกของวรรณกรรมสัจนิยมแนวสังคมนิยม (ศรีบูรพาและจิตรภูมิศักดิ์ แปลเป็นไทยรวม ๒ สำนวนในชื่อเรื่อง แม่)

 หลังการประชุมใหญ่ครั้งนี้ หน่วยงานด้านวัฒนธรรมและการโฆษณาของพรรคคอมมิวนิสต์ก็รณรงค์ให้นักเขียนและศิลปินสมัครเป็นสมาชิกสหภาพนักเขียนโซเวียต และพิมพ์เผยแพร่หลักการสัจนิยมแนวสังคมนิยมในสื่อสิ่งพิมพ์ของสหภาพนักเขียนโซเวียตและของพรรคอย่างกว้างขวางขณะเดียวกันสหภาพนักเขียนโซเวียตเริ่มกำหนดมาตรการ ลงโทษนักเขียนที่ไม่เป็นสมาชิกให้หมดบทบาทในวงการหนังสือและการประพันธ์ และเข้าควบคุมการผลิตและการเผยแพร่งานประพันธ์ต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยม ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารเซียร์เกย์ มีโรโนวิช คีรอฟ (Sergei Mironovich Kirov)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตสาขาเลนินกราด สตาลินจึงใช้การลอบสังหารครั้งนี้เป็นข้ออ้างจับกุมและกวาดล้างศัตรูทางการเมืองและฝ่ายตรงข้ามทั้งพลเรือนและทหารซึ่งนำไปสู่การกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๘)* สมาชิกพรรคบอลเชวิครุ่นบุกเบิกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสตาลินต่างถูกจับกุมและนำตัวขึ้นพิจารณาคดีที่มอสโกหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าคดีกลุ่มก่อการร้ายสายตรอตสกี-ซีโนเวียฟ (Trotskyite-Zinovievite terrorist groups)

 ในการพิจารณาคดีที่มอสโกซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคดีที่มดเท็จทางการเมืองมากที่สุด ศาลตัดสินประหารสมาชิกพรรครุ่นบุกเบิก (Old Bolsheviks) ระดับนำกว่า ๒๐ คน สหภาพนักเขียนโซเวียตได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนผลการพิจาณาคดีแห่งมอสโกและเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการสืบจับบุคคลที่ต้องสงสัยมีส่วนพัวพันกับกลุ่มก่อการร้ายมาพิจารณาลงโทษ ในช่วงเวลาเดียวกันสหภาพนักเขียนโซเวียตก็ดำเนินการกวาดล้างนักเขียน นักวิจารณ์ บรรณาธิการ และคนอื่น ๆ ที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มตรอตสกี-ซีโนเวียฟ และเป็นศัตรูของพรรค ทั้งตรวจสอบงานประพันธ์ทุกประเภทอย่างเข้มงวด หากไม่สอดคล้องกับแนวคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยม จะถือว่าผู้ประพันธ์เป็นอาชญากรที่ต้องถูกจับกุมและถูกลงโทษด้วยการส่งไปทำงานหนักที่ค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* ในไซบีเรีย การกวาดล้างอันนองเลือดและการควบคุมบังคับงานคิลปวรรณกรรมของสหภาพโซเวียตระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๙ ทำให้กวีและนักเขียนรวมทั้งผู้ทำงานด้านศิลปะจำนวนมากจำใจต้องเข้าเป็นสมาชิกสหภาพนักเขียนโซเวียตและยอมรับสัจนิยมแนวสังคมนิยมเป็นแนวทางการสร้างงานวรรณกรรม ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ปลีกตัวออกจากสังคมและบ้างพยายามลี้ภัยออกนอกประเทศ

 ในครึ่งหลังทศวรรษ ๑๙๓๐ งานเขียนที่พิมพ์เผยแพร่ล้วนเป็นการตอบสนองนโยบายทางวรรณกรรมแห่งพรรคและวรรณกรรมเรื่องเอกที่ได้รับยกย่องเป็นต้นแบบของวรรณกรรมสัจนิยมแนวสังคมนิยมคือ นวนิยายของนีโคไล ออสตรอฟสกี (Nikolai Ostrovsky) เรื่อง How the Steel Was Tempered (ค.ศ. ๑๙๓๗) (ทวีป วรดิลก แปลเป็นไทยในชื่อ เบ้าหลอมนักปฏิวัติ) และ And Quiet Flows the Don (ค.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๔๐) ของมีฮาอิล โชโลคอฟ ลักษณะเด่นที่สำคัญประการหนึ่งคือการยกย่องเชิดชูสตาลินและสดุดียุคสมัยการปกครองของสตาลินว่าเป็นสมัยแห่งการสร้างสรรค์และเป็นปึกแผ่นมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ปรากฏการณ์ทางวรรณกรรมดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับแนวความคิดลัทธิการบูชาบุคคล (Cult of Personality)* ที่สตาลินสร้างขึ้น นักเขียนที่สดุดียกย่องสตาลินมักมีบทบาทสำคัญทางวัฒนธรรมและได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ทางสังคม นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งรางวัลสตาลิน (Stalin Prize) ด้านวรรณกรรมเพื่อแข่งกับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) สาขาวรรณคดี แต่ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ซึ่งเป็นช่วงเวลาการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* มีการเปลี่ยนชื่อรางวัลสตาลินเป็นรางวัลแห่งสหภาพโซเวียต (State Prize of the USSR)

 เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ขยายอำนาจเข้าไปในยุโรปด้วยการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* และยึดครองซูเดเทนลันด์ (Sudetenland) ของเชโกสโลวะเกียใน ค.ศ. ๑๙๓๘ สตาลินเริ่มตระหนักว่าเยอรมนีกำลังเตรียมที่จะเข้าสู่สงครามเขาจึงให้เวียเชสลัฟ โมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปรับความสัมพันธ์กับเยอรมนีและนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาทางการค้าเป็นเวลา ๗ ปีในกลางเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ และในวันที่ ๒๓ สิงหาคม สหภาพโซเวียตลงนามกับเยอรมนีในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* หรือกติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ (Ribbentrop-Molotov Pact)* สหภาพนักเขียนโซเวียตออกแถลงการณ์สนับสนุนกติกาสัญญาดังกล่าวอย่างแข็งขัน และมีมติห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่งานเขียนทุกประเภทที่โจมตีกล่าวร้ายเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อเยอรมนีบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ซึ่งทำให้มิตรภาพระหว่างสหภาพโซเวียตกับเยอรมนีสิ้นสุดลง สหภาพโซเวียตหันมาร่วมมือกับประเทศพันธมิตรตะวันตกทำสงครามกับเยอรมนีและเริ่มปลุกระดมความรักชาติและการสร้างเอกภาพทางความคิดในการทำสงครามด้วยการผ่อนคลายความเข้มงวดการควบคุมทางสังคมรวมทั้งยกเลิกนโยบายการจับกุมกวาดล้างทั้งให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างอิสระ ในช่วงเวลาดังกล่าว สหภาพนักเขียนโซเวียตสนับสนุนให้นักเขียนสร้างสรรค์งานวรรณกรรมที่เน้นเนื้อหาความรักชาติและการยืนหยัดต่อสู้ของประชาชนทั้งในแนวหน้าและแนวหลังรวมทั้งในดินแดนที่นาซียึดครองตลอดจนสะท้อนเรื่องราวความเหี้ยมโหดป่าเถื่อนของฟาสซิสต์เยอรมัน

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๒-๑๙๔๕ แนวคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยมคลายความเข้มข้นลง ตัวเอกในงานวรรณกรรมซึ่งมักเป็นผู้นำพรรค สมาชิกพรรค หรือคนโซเวียตรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมและการชี้นำแห่งพรรคลดบทบาทความสำคัญลงมาเป็นสามัญชนทั่วไปที่เชื่อมั่นในตนเอง มีความฝัน และเป็นอิสระจากกฎระเบียบสังคมและอุดมการณ์การเมือง ลักษณะเด่นประการหนึ่งคือตัวละครหญิงมีบทบาทมากขึ้น และเนื้อหานอกจากเน้นการยืนหยัดต่อสู้ทำสงครามเพื่อชัยชนะแล้ว ยังสะท้อนความคาดหวังของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมภายหลังสงครามสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ในปลายสงครามสหภาพโซเวียตยกเลิกนโยบายการผ่อนคลายทางสังคมและหันมาควบคุมทางสังคมอย่างเข้มงวดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งเน้นการเสริมสร้างอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนินให้เข้มแข็งเพื่อต่อต้านแนวความคิดเสรีประชาธิปไตยจากประเทศตะวันตก

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงได้ไม่ถึง ๓ เดือน ที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ก็มีมติให้เน้นสัจนิยมแนวสังคมนิยมเป็นแนวนโยบายหลักของการสร้างงานคิลปะวรรณกรรมอีกครั้งหนึ่งจดานอฟนักทฤษฎีการเมืองพรรคและสหายสนิทของสตาลินได้เสนอกรอบของสัจนิยมแนวสังคมนิยมเพิ่มเติมโดยให้งานวรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในสงครามอุดมการณ์หรือสงครามเย็น (Cold War)* ทั้งต้องเปิดโปงศิลปวัฒนธรรมอันสามานย์ของระบบทุนนิยม งานวรรณกรรมต้องมีการจัดตั้ง วางแผน และเป็นเอกภาพกับนโยบายพรรคและเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพนักเขียนต้องสร้างสรรค์งานประพันธ์ที่ต่อต้านความเลวร้ายของประเทศทุนนิยมตะวันตกโดยเฉพาะจักรวรรดินิยมอเมริกา และเน้นความสำเร็จและความยิ่งใหญ่เป็นที่ ๑ ของสหภาพโซเวียตในทุก ๆ ด้านซึ่งเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งเน้นการสดุดีความเป็นอัจฉริยะของสตาลินทางด้านต่าง ๆ ต่อมา เมื่อสหภาพโซเวียตขยายอำนาจเข้าไปในประเทศยุโรปตะวันออกและบีบบังคับให้ประเทศยุโรปตะวันออกเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นแบบโซเวียตระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๔๗ ประเทศยุโรปตะวันออกที่กลายเป็นรัฐบริวารโซเวียตยกเว้นยูโกสลาเวียก็ถูกบังคับให้นำสัจนิยมแนวสังคมนิยมไปเป็นนโยบายทางด้านศิลปวัฒนธรรมด้วย

 อสัญกรรมของสตาลินในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ ได้นำไปสู่การแย่งชิงอำนาจภายในพรรคระหว่างลัฟเรนตี เบเรีย (Lavrenty Beria)* หัวหน้าหน่วยตำรวจลับซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเคจีบี (KGB)* กับเกออร์กี มาเลนคอฟ (Georgi Malenkov)* รองนายกรัฐมนตรี กลุ่มที่สนับสนุนมาเลนคอฟกล่าวหาเบเรียว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนฆาตกรรมของคณะแพทย์ (Doctor’s Plot)* ในการใช้วิธีการทางการแพทย์สังหารแกนนำพรรคคนสำคัญ แม้เบเรียจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาบริสุทธิ์แต่ก็รักษาอำนาจทางการเมืองไว้ได้เพียงช่วงเวลาอันสั้น เพราะในเวลาต่อมามาเลนคอฟได้ร่วมมือกับนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* เลขาธิการพรรคสาขามอสโก และจอมพล เกออร์กี จูคอฟ (Georgi Zhukov)* กำจัดเบเรียได้สำเร็จ ต่อมา ครุชชอฟก็ใช้ความล้มเหลวของมาเลนคอฟในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อทอนอำนาจมาเลนคอฟลง เมื่อครุชชอฟได้อำนาจเด็ดขาดในพรรคใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เขาเริ่มดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลินและผ่อนคลายความเข้มงวดทางการเมืองและสังคมและยุบเลิกองค์การโคมินฟอร์ม (Cominform)* ทั้งรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับยอซีป บรอชหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำยูโกสลาเวีย ในช่วงเวลาดังกล่าวครุชชอฟยอมผ่อนคลายนโยบายสัจนิยมแนวสังคมนิยมโดยยอมให้นักเขียนมีเสรีภาพในการถ่ายทอดอารมณ์และความคิดในฐานะปัจเจกบุคคลในงานประพันธ์ได้อย่างอิสระมากขึ้นแต่ก็ต้องอยู่ในแนวทางที่พรรคยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม นักเขียนที่ไม่เห็นด้วยกับสัจนิยมแนวสังคมนิยมก็ยังคงแอบสร้างสรรค์งานประพันธ์นอกกรอบและลักลอบส่งผลงานไปจัดพิมพ์นอกประเทศ เช่น นวนิยายเรื่อง Dr. Zhivago ของโบริส ปัสเตียร์นัค (Boris Pasternak) และ The Master and Margarita ของมีฮาอิล บุลกาคอฟ (Mikhail Bulgakov) (นวนิยายทั้ง ๒ เรื่องแปลเป็นภาษาไทย ในชื่อ นายแพทย์ชิวาโก โดยอาษา ขอจิตเมตต์ และ มาสเตอร์กับมาร์การิตา โดยนพดล เวชสวัสดิ์)

 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวของปัญญาชนและนักเขียนฮังการีซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสโมสรเปเตอฟี (Petőfi Club) โดยตั้งชื่อตามชื่อชานดอร์ เปเตอฟี (Sándor Petőfi)* กวีแห่งชาติฮังการีที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวแยกตัวของฮังการีจากจักรวรรดิออสเตรีย (Austria Empire)* ในช่วงการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* สหภาพโซเวียตได้ใช้กำลังปราบปรามการลุกฮือของชาวฮังการีและตระหนักว่าการให้สิทธิเสรีภาพและการผ่อนคลายความเข้มงวดทางสังคมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของระบอบสังคมนิยม รัฐบาลโซเวียตจึงให้สหภาพนักเขียนโซเวียตจัดประชุมใหญ่นักเขียนทั่วประเทศใน ค.ศ. ๑๙๕๗ เพื่ออธิบายเหตุผลและความจำเป็นที่พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตต้องเข้าแทรกแซงกิจการภายในฮังการีและการจะให้นักเขียนทุกคนยึดมั่นในหลักสัจนิยมแนวสังคมนิยมมีการเพิ่มการอธิบายขยายความประเด็น “ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์” ในสัจนิยมแนวสังคมนิยมให้ชัดเจนมากขึ้นโดยต้องสะท้อนความเป็นจริงของชีวิตในระบอบสังคมนิยมและสนับสนุนวัตถุประสงค์ของพรรคและประเทศชาติ นักเขียนและผู้สร้างงานคิลปะที่ยึดมั่นสัจนิยมแนวสังคมนิยมคือ “วิศวกรผู้รังสรรค์วิญญาณ” (engineers of the souls) ของชนชั้นกรรมาชีพ ครุชชอฟยังกล่าวปรามเป็นเชิงเตือนนักเขียนให้สร้างสรรค์งานประพันธ์ที่ไม่ออกนอกลู่นอกทางของแนวนโยบายวรรณกรรมแห่งพรรค หากต่อต้านก็อาจถูกลงโทษหนักและได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนต้องห้ามที่ผลงานจะไม่มีวันได้ผุดได้เกิด นวนิยายสั้น (novelette) เรื่องสำคัญ คือ One Day in the Life Ivan Denosovich ของอะเล็กซานเดอร์ ซอลเจนิตซิน (Alexander Solzhenitsyn) ซึ่งเนื้อหาต่อต้านระบอบสตาลินและดีแผ่ความทารุณโหดร้ายของชีวิตในค่ายกักกันแรงงานให้สาธารณชนได้รับรู้นวนิยายสั้นเรื่องนี้ได้รางวัลเลนินสาขาวรรณคดี และทำให้ประเด็น “ค่ายกักกันแรงงาน” เป็นข้อถกเถียงโต้แย้งกันในต้นทศวรรษ ๑๙๖๐ ทั้งทำให้การล้มล้างอิทธิพลสตาลินระลอกสองทวีความเข้มข้นมากขึ้น

 ความเพลี่ยงพลํ้าทางการทูตของสหภาพโซเวียตในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธที่คิวบา (Cuban Missile Crisis)* ใน ค.ศ. ๑๙๖๒ และปัญหาการเก็บเกี่ยวที่ไม่ได้ผลใน ค.ศ. ๑๙๖๓ ซึ่งนำไปสู่ภาวะการขาดแคลนอาหารและราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความนิยมในตัวครุชชอฟลดลงอย่างมากกลุ่มที่ต่อต้านเขาจึงผนึกกำลังบีบบังคับให้ครุชชอฟลาออกจากตำแหน่งได้สำเร็จในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๔ เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev)* สหายสนิทที่ทรยศต่อครุชชอฟได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคและอะเล็กเซย์ โคซีกิน (Alexei Kosygin)* เป็นนายกรัฐมนตรี เบรจเนฟ ซึ่งเป็นฝ่ายนิยมสตาลินได้ล้มเลิกนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลินของครุชชอฟอย่างค่อยเป็นค่อยไปและในต้น ค.ศ. ๑๙๗๐ ก็นำระบอบลัทธิสตาลินกลับมาใช้ปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลควบคุมสังคมอย่างเข้มงวดและให้นักเขียนยึดมั่นในหลักการสัจนิยมแนวสังคมนิยมอย่างเคร่งครัด สหภาพนักเขียนโซเวียตก็เพิ่มมาตรการตรวจสอบงานประพันธ์ทุกประเภทอย่างเข้มงวดและให้ใช้มาตรการลงโทษหนักนักเขียนที่ต่อต้านหลักการสัจนิยมแนวสังคมนิยมจะถูกคุกคามและถอนสัญชาติความเป็นพลเมืองโซเวียต บังคับให้ลี้ภัยหรือเนรเทศออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันปัญญาชนและนักเขียนที่ต่อต้านรัฐบาลก็หันมาจัดทำวารสารและสิ่งพิมพ์ใต้ดินที่เรียกว่า “ซามิซดัต” (Samizdat) เพื่อเผยแพร่ข้อเขียนและข่าวสารทางการเมืองและสังคมตลอดจนงานประพันธ์ประเภทต่าง ๆ ที่ทางการห้ามพิมพ์เผยแพร่ซามิซดัตจึงเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของขบวนการปัญญาชนและนักเขียนโซเวียตในปลายทศวรรษ ๑๙๖๐-๑๙๗๐ การปิดกั้นเสรีภาพและการบังคับให้นักเขียนกวี หันมายอมรับสัจนิยมแนวสังคมนิยมอีกครั้งทำให้ช่วงสมัยการปกครองของเบรจเนฟระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๔-๑๙๘๒ ได้ชื่อว่าเป็นสมัยแช่แข็ง (Freeze) ทางปัญญาและความซํ้าซากน่าเบื่อของวรรณกรรมสัจนิยมแนวสังคมนิยม

 ในปลายทศวรรษ ๑๙๗๐ เบรจเนฟมีสุขภาพยํ่าแย่ลงและล้มป่วยหลายครั้งจนเหล่าผู้นำโปลิตบูโรคนสำคัญที่กำหนดนโยบายการบริหารไม่ว่าจะเป็นยูรี อันโดรปอฟ (Yuri Andropov)* คอนสตันติน เชียร์เนนโค (Konstantin Chernenko)* และอันเดรย์ โกรมีโค (Andrei Gromyko)* ต้องพยายามปกปิดอาการป่วยของเขา และพยายามสร้างภาพความเป็นผู้นำที่สามารถของเบรจเนฟให้ปรากฏอย่างต่อเนื่อง ใน ค.ศ. ๑๙๗๙ เบรจเนพ์ได้รับรางวัลเลนิน ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดด้านคิลปวรรณกรรมสำหรับหนังสือชุดอัตชีวประวัติ ๓ เล่ม เกี่ยวกับชีวิตและผลงานของเขา มีการโหมสดุดีว่าหนังสืออัตชีวประวัติชุดนี่เป็นการพัฒนาหลักการสัจนิยมแนวสังคมนิยมให้ก้าวหน้าเพราะนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวิติศาสตร์เรื่องราวที่เป็นจริง และความงามทางวรรณคิลป์ผูกร้อยกันได้อย่างงดงามและสะท้อนแบบอย่างของรัฐบุรุษโซเวียตที่อุทิศตนเพื่อปิตุภูมิสังคมนิยมและเพื่อสันติภาพของโลกแนวทางการสร้างงานประพันธ์ตามแบบวรรณกรรมของเลขาธิการคือการนำเสนอรูปแบบใหม่ของงานเขียนสัจนิยมแนวสังคมนิยมที่นักเขียนต้องยึดเป็นต้นแบบ

 อย่างไรก็ตาม เมื่อมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)* ผู้นำรุ่นใหม่หัวปฏิรูปก้าวสู่อำนาจทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๘๕ กอร์บาชอฟประกาศดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยทุก ๆ ด้านด้วยนโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perestroika) หรือนโยบายเปิด-ปรับ เขาแต่งตั้งอะเล็กซานเดอร์ ยาคอฟเลฟ (Alexander Yakovlev) อดีตเอกอัครราชทูตประจำแคนาดาซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์หัวก้าวหน้าให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายงานโฆษณาของคณะกรรมาธิการกลางพรรค ยาคอฟเลฟจึงปรับระบบงานด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยการปลดสมาชิกพรรคหัวอนุรักษ์ออกจากตำแหน่งต่าง ๆ และแต่งตั้งคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าให้ดำรงตำแหน่งแทน

 เมื่อโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยพลังนิวเคลียร์ที่เมืองเชียร์โนบีล (Chernobyl) ใกล้กรุงเคียฟระเบิดขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๘๖ ในระยะแรกรัฐบาลโซเวียตพยายามปิดบังข่าวสารซึ่งนำไปสู่ความอึมครึมทางสังคมและนานาประเทศวิพากษ์โจมตีสหภาพโซเวียตอย่างมากที่ไม่แจ้งเรื่องอุบัติเหตุอย่างฉับพลันทันที สหภาพโซเวียตจึงใช้เหตุการณ์อุบัติเหตุเชียร์โนบีล (Chernobyl Accident)* ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและประกาศจะไม่ปิดบังประชาชนด้านข่าวสารและข้อมูลอีกต่อไป ยาคอฟเลฟได้ปรับระบบการบริหารของสหภาพนักเขียนโซเวียตและแต่งตั้งนักเขียนเสรีนิยมหลายคนเป็นกรรมการบริหารชุดใหม่ของสหภาพนักเขียนโซเวียต ใน ค.ศ. ๑๙๘๗ คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของสหภาพนักเขียนโซเวียตจึงมีมติที่จะผ่อนคลายการควบคุมทางความคิดเห็นและยกเลิกระบบการเซนเซอร์ทั้งให้กู้เกียรติและคืนสถานภาพทางสังคมแก่นักเขียนที่เคยถูกทางการกวาดล้างและลงโทษตลอดจนให้จัดพิมพ์งานประพันธ์ต้องห้ามในอดีตรวมทั้งงานประพันธ์จากประเทศตะวันตกเผยแพร่ได้ เช่น Dr. Zhivago ของปัสเตียร์นัค The Gulag Archipelago ของอะเล็กซานเดอร์ ซอลเจนิตซิน Animal Farm และ 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นักเขียนชาวอังกฤษบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็นที่เปิดกว้างระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๖-๑๙๘๙ ทำให้สมัยของกอร์บาชอฟได้ชื่อว่าเป็นสมัย “ทอว์” (Thaw) หรือสมัย “หิมะละลาย” ของการผ่อนคลายความเข้มงวดทางสังคมเป็นครั้งที่ ๒ (สมัยแรกเกิดขึ้นในช่วงครุชชอฟเป็นผู้นำประเทศ) แนวคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยมจึงหมดอิทธิพลความสำคัญทางความคิดในวงการหนังสือและประพันธ์จนยกเลิกไปโดยปริยาย หลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ประเทศยุโรปตะวันออกที่ล้มเลิกระบอบคอมมิวนิสต์ก็ยกเลิกแนวคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยมด้วย.



คำตั้ง
Socialist Realism
คำเทียบ
สัจนิยมแนวสังคมนิยม
คำสำคัญ
- กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ
- กลัดคอฟ, ฟิโอดอร์
- กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา
- กอร์กี, มักซิม
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- การกวาดล้างอันนองเลือด
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- โกรมีโค, อันเดรย์
- คดีกลุ่มก่อการร้ายสายตรอตสกี-ซีโนเวียฟ
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- ครุปสกายา, นาเดจดา
- คาเมเนฟ, เลฟ
- ค่ายกักกัน
- ค่ายกักกันแรงงาน
- เคจีบี
- โคซีกิน, อะเล็กเซย์
- โคมินฟอร์ม
- จดานอฟ, อันเดรย์
- จูคอฟ, เกออร์กี
- ชากีเนียน, มารีเอตตา
- เชกา
- เชโกสโลวะเกีย
- เชียร์เนนโค, คอนสตันติน
- โชโลคอฟ, มีฮาอิล
- ซอลเจนิตซิน, อะเล็กซานเดอร์
- ซามิซดัต
- ซาเมียติน, เยฟเกนี
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- ซูเดเทนลันด์
- เซราฟีโมวิช, อะเล็กซานเดอร์
- ดเซียร์จินสกี, เฟลิกซ์ เอดมุนโดวิช
- ตรอตสกี, เลออน
- ตีโต
- นโยบายกลาสนอสต์
- นโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา
- นโยบายการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม
- นโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- นโยบายเปิด-ปรับ
- นโยบายแห่งพรรคด้านวรรณกรรม
- บอลเชวิค
- บุลกาคอฟ, มีฮาอิล
- บูฮาริน, นีโคไล
- เบรจเนฟ, เลโอนิด
- เบเรีย, ลัฟเรนตี
- ปันเฟรอฟ, ฟิโอดอร์
- ปัสเตียร์นัค, โบริส
- เปเตอฟี, ชานดอร์
- เปเรสตรอยกา
- แผนฆาตกรรมของคณะแพทย์
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคนาซี
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- มาเลนคอฟ, เกออร์กี
- ยาคอฟเลฟ, อะเล็กซานเดอร์
- ยูโกสลาเวีย
- ระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม
- รัฐบริวารโซเวียต
- รางวัลโนเบล
- รางวัลสตาลิน
- ราเดค, คาร์ล
- ลัทธิการบูชาบุคคล
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิมากซ์-เลนิน
- ลัทธิสตาลิน
- ลูนาชาร์สกี, อะนาโตลี วาซีเลียวิช
- วิกฤตการณ์ขีปนาวุธที่คิวบา
- โวรอนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สมาคมนักเขียนแห่งชนชั้นกรรมาชีพรัสเซีย
- สัจนิยมแนวสังคมนิยม
- ออร์เวลล์, จอร์จ
- ออสตรอฟสกี, นีโคไล
- อันโดรปอฟ, ยูรี
- อุบัติเหตุเชียร์โนบีล
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-